หวั่น…ไทยหลุดเวทีโลก เตือนธุรกิจผนึกกำลังรับมือ

หวั่น…ไทยหลุดเวทีโลก เตือนธุรกิจผนึกกำลังรับมือ

แม้ไทยจะสามารถรอดพ้นวิกฤตทั้งระดับประเทศและระดับโลกมาได้หลายต่อหลายครั้ง แต่กระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งในและนอกประเทศหลังการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค การทวีความสำคัญทางธุรกิจของประเทศเพื่อนบ้าน อาจเป็นครั้งแรกที่ไทยอาจรับมือไม่ทัน จนสูญเสียความสำคัญในตลาดโลก

“อัศวิน เตชะเจริญวิกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเจซี ผู้บริหารเชนค้าปลีก “บิ๊กซี” และยังเป็นผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค อย่างสบู่นกแก้ว ขนมโดโซะ ฯลฯ รวมไปถึงขวดแก้วรายใหญ่ระดับอาเซียน กล่าวในงานสัมมนาประชาชาติธุรกิจ “Thailand 2023 : The Great Remake เศรษฐกิจไทย” ถึงความเร่งด่วนที่ภาคธุรกิจของไทยจะต้องทำให้เกิด Great Remake หรือการปรับตัวครั้งใหญ่ ก่อนที่จะสูญเสียตำแหน่งผู้นำธุรกิจของอาเซียน และถดถอยกลายเป็นเพียงประเทศเล็ก ๆ ไร้ความสำคัญในสายตาชาวโลก

รวมถึงเสนอแนะแนวทางที่ภาคธุรกิจของไทยควรดำเนินการเพื่อให้เกิด Great Remake และสร้างความได้เปรียบให้กับธุรกิจและประเทศไปพร้อมกัน

ธุรกิจ

ไทยประชากรน้อย-ตลาดเล็ก
“อัศวิน” กล่าวว่า ประเทศไทยเหลือเวลาไม่มากในการสร้าง Great Remake หรือปรับตัวครั้งใหญ่ ก่อนจะกลายเป็นเพียงประเทศเล็กประเทศหนึ่ง ซึ่งไม่มีความหมายในตลาดโลก เนื่องจากเมื่อเทียบกับตลาดโลกแล้ว ขนาดประชากร 70 ล้านคนของไทยถือว่าเล็กมาก ขณะที่การสร้างการเติบโตก็เริ่มท้าทาย เพราะอัตราการบริโภคใกล้ถึงขีดจำกัด ยกตัวอย่างเช่น การจะให้คนบริโภคไข่เพิ่มจากปัจจุบันเป็นเรื่องยาก ตรงกันข้ามพอคนอายุมากขึ้นก็ทานน้อยลง การจะซื้อส้มเป็นกิโลฯไปกินกับเพื่อนเหมือนวัยหนุ่มสาวนั้นก็ยากแล้ว

นอกจากนี้กำลังซื้อยังลดลงต่อเนื่อง เห็นจากภาวะเงินเฟ้อที่ปีนี้เพิ่มไปมากกว่า 10% แล้ว แต่จากผลสำรวจเมื่อเร็ว ๆ นี้บรรดาบริษัทในไทยขึ้นเงินเดือนได้เพียงไม่ถึง 5% ทำให้กำลังซื้อลดลงไปโดยธรรมชาติ จึงเรียกได้ว่า นอกจากกำลังซื้อจะหดตัวลงแล้ว ยังไม่สามารถที่จะสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ของประเทศเพื่อเพิ่มกำลังซื้อได้ ทำให้ตลาดแข่งขันสูงขึ้นเป็นเรดโอเชียน

“เวียดนาม” ดาวรุ่งดวงใหม่
ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ที่มีแนวโน้มจะขึ้นเป็นศูนย์กลางความเจริญแห่งใหม่ในอาเซียน หลังรัฐบาลเวียดนามส่งเสริมจนมีการพัฒนาหลายด้าน อย่างสินค้าการเกษตร โดยเฉพาะข้าว ทั้งด้วยนโยบายการปลูกข้าว การตัดต่อสายพันธุ์ ตามเป้าให้ข้าวเวียดนามเป็นข้าวในตลาดโลก จนปัจจุบันข้าวไทยแข่งขันด้วยยาก

อีกทั้งผู้ค้าต่างชาติยังรุกเข้ามาในไทยในทุกมิติ ทั้งการทำโซเชียลคอมเมิร์ซ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ไปจนถึงการไลฟ์สด การใช้ติ๊กตอก โดยเปิดโกดังเก็บสินค้าในเมืองไทย

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่กลุ่มบีเจซีซึ่งดำเนินธุรกิจมามากกว่า 140 ปี เริ่มจากธุรกิจเทรดดิ้ง จนปัจจุบันมีธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำแบบครบวงจร ตั้งแต่บรรจุภัณฑ์ที่เป็นผู้ผลิตขวดแก้วรายใหญ่ระดับอาเซียน ด้วยจำนวน 4 พันล้านขวด และ 5 พันล้านกระป๋องต่อปีให้กับผู้ผลิตสินค้าในอาเซียน ผลิตของกินของใช้อย่าง สบู่นกแก้ว ข้าวเกรียบโดโซะ กระดาษทิชชู่ ฯลฯ รวมกว่า 2 แสนตันต่อปี ร้านค้าปลีกบิ๊กซีโมเดลต่าง ๆ พร้อมฐานสมาชิกกว่า 18 ล้านรายชื่อ รวมถึงมีธุรกิจค้าปลีกในต่างประเทศ เช่น เวียดนามที่รุกเข้าไปตั้งแต่เมื่อ 16 ปีก่อน ก่อนจะขยายต่อไปยังลาวและกัมพูชา

ทำให้สามารถทราบถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในวงการธุรกิจของอาเซียนและของโลกในตอนนี้ ซึ่งต่างสะท้อนชัดว่าไทยต้องรีบคิดเรื่องการ Great Remake หรือการปรับตัวครั้งใหญ่ในตอนนี้ เพราะเวลาเหลือไม่มากแล้ว

“ผมเองคุยกับทางทีมงานตลอดว่า อาจต้องย้ายสำนักใหญ่จากสุขุมวิท 42 ไปโฮจิมินห์ ซึ่งผมเองไม่อยากให้ถึงจุดนั้น แต่หากอีก 2-3 ปี ข้างหน้า เวียดนามทำได้ดีขึ้นมาจริง ๆ เราก็ต้องรีบยกมือย้ายตัวเองไปที่ศูนย์กลางความเจริญใหม่ของอาเซียน”

ชูโมเดล “เจ้าสัวเจริญ” รับมือ
สำหรับการ Great Remake นั้น แม่ทัพของบีเจซีย้ำว่า ไม่ได้ขึ้นอยู่กับภาครัฐบาล แต่อยู่ในมือของภาคเอกชนทุกราย ที่ไม่เพียงต้องปรับตัวเอง แต่ยังต้องมีความร่วมมือแบบเปิดใจระหว่างภาคเอกชนตั้งแต่รายใหญ่ไปจนถึงรายเล็ก เพื่อรับมือการแข่งขันกับคู่แข่งในระดับภูมิภาค-ระดับโลก เพราะเมื่อเทียบกับคู่แข่งบนเวทีระดับโลกแล้ว แม้แต่ธุรกิจที่เป็นทุนใหญ่ในไทยหลายรายก็ยังเป็นเพียงปลาเล็กในบ่อน้ำตลาดโลก

อย่างไรก็ตาม การสร้างความร่วมมือกันยังมีความท้าทาย เพราะในวงการธุรกิจของไทยความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทใหญ่กับเล็กจะมีความเกรงกลัวกันอยู่ จนอาจเรียกได้ว่าผู้เล่นไทยกลัวกันเองมากกว่ากลัวคู่แข่งต่างชาติ

ส่วนทางออกนั้นอาจปรับใช้นโยบายของ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ประธานกรรมการบริษัทและประธานกรรมการบริหารกลุ่มบีเจซี ที่แนะนำเสมอว่า ในการค้าบริษัทใหญ่ต้องพยายามช่วยเหลือบริษัทขนาดกลาง-เล็ก ซึ่งรับมือกับความผันผวนของโลกได้น้อยกว่า ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทเข้าช่วยเหลือในหลายด้าน ทั้งพัฒนาสินค้าทั้งคุณภาพ ดีไซน์ให้สามารถเข้าห้าง-ส่งออกได้ รวมถึงเข้าไปถือหุ้นบางรายเพื่อให้ธุรกิจมีความเข้มแข็งมากขึ้น

“ตอนนี้เป็นยุคที่ต้องร่วมมือกันแล้ว เพราะเวลาเราเหลือน้อย ถ้าแต่ละรายแยกทำกันเองก็จะไม่ทัน เพราะธุรกิจในประเทศไทยจริง ๆ จะไม่มีที่ยืนอยู่แล้ว”

อีกจุดคือการออกไปทำธุรกิจในประเทศที่มีการเติบโต ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ท่านประธานเจริญเช่นกัน ทำให้บีเจซีรุกเข้ายังเวียดนามตั้งแต่เมื่อ 14 ปีก่อน ก่อนจะใช้เป็นฐานต่อยอดไปที่ลาว-กัมพูชา และขณะนี้กำลังจะขยายไปยังตลาดใหม่ ๆ ที่มีอัตราการเติบโตสูงอย่างละตินอเมริกาและตะวันออกกลาง อีกด้วย

พร้อมทั้งแนะยุทธศาสตร์การขยายธุรกิจในต่างประเทศนั้น จะต้องหาคู่ค้าที่ไว้ใจได้มาช่วยสนับสนุน โดยใช้การค้าเป็นหัวหอก พยายามเชื่อมโยงการค้าระหว่างกันก่อนเพื่อศึกษาตลาด เนื่องจากการลงทุนตั้งโรงงานผลิตหรือห้างค้าปลีกเองทันทีมีความเสี่ยงสูง

นอกจากนี้ ด้านตลาดในประเทศยังปรับตัวในหลายด้าน โดยเฉพาะบิ๊กซี ที่เป็นธุรกิจค้าปลีกซึ่งถูกกระทบและต้อง Remake เป็นธุรกิจแรก ๆ เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง มีตัวเลือกจับจ่ายสินค้ามากขึ้น มีการเช็กราคาของ มีการเปรียบเทียบร้านต่าง ๆ มากขึ้น ทำให้มีคู่แข่งเพิ่มขึ้นมหาศาล จึงต้องมีการปรับทั้งในเรื่องของระบบ วิธีการทำงาน โครงสร้างองค์กร การเข้าใจลูกค้า ด้วยการเชิญลูกค้ามาทำงานสำรวจต่าง ๆ ปีหนึ่งหลายครั้ง รวมถึงเช็กราคาสินค้าเทียบกับช่องทางออนไลน์-ออฟไลน์ต่าง ๆ เพื่อหาจุดที่สามารถพัฒนาได้

หลังจากนี้อาจจะต้องปรับเรื่องซัพพลายเชน อย่างโมเดลศูนย์กระจายสินค้า เพราะศูนย์ใหญ่ที่เราสร้างมาขนาด 1 แสนตารางเมตรที่อยุธยา อนาคตอาจจะต้องปรับเป็นใช้ศูนย์เล็กกระจายทั่วประเทศให้ใกล้กับลูกค้ามากขึ้นและลดต้นทุนไปด้วย เพื่อทำให้สินค้าไปหาคน และคนมาหาสินค้า ในต้นทุนที่คุ้มค่าได้มากขึ้น

ต่อเนื่องจากช่วงโควิดบิ๊กซีเป็นห้างแรกที่มีไลน์ของทุกสาขา ให้ลูกค้าสามารถสั่งของได้ พร้อมตัวเลือกส่งที่บ้านหรือมารับที่สาขาก็ได้ รวมถึงการไลฟ์สดขายสินค้า ที่ปัจจุบันความสามารถของพนักงานพัฒนาขึ้นจนสามารถไลฟ์ขายทุเรียนได้ระดับพันลูก เป็นต้น

“สถานการณ์ปัจจุบันอาจเป็นสัญญาณเตือนครั้งใหญ่ และสุดท้ายแล้ว ถ้าเกิดมีคนเตือนแล้วไม่ฟังอีก เราจะสูญเสียความเป็นผู้นำธุรกิจในอาเซียนไป”

ติดตามข่าวธุรกิจและข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นี่ : Nikkei Asia รายงาน Apple เล็งอินเดีย

Nikkei Asia รายงาน Apple เล็งอินเดีย

Nikkei Asia รายงาน Apple เล็งอินเดีย เป็นฐานผลิต AirPods, หูฟัง Beats กระจายความเสี่ยงไปนอกจีน

 

ข่าวธุระกิจ

 

Apple เริ่มผลิต iPhone 14 ในอินเดียเร็วขึ้นกว่าเดิม เท่านั้นยังไม่พอ Nikkei Asia รายงานว่า Apple เริ่มคุยกับซัพพลายเออร์ ให้อินเดียเป็นแหล่งผลิต AirPods, หูฟัง Beats ด้วย หลังจากจีนกลายเป็นฐานผลิตใหญ่มานาน

ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงจากจีนที่มีการล็อกดาวน์บ่อย และเป็นการกระจายแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งนอกจากอินเดียแล้ว ยังมีเวียดนามที่ Apple ค่อยๆ ย้ายมาผลิตสินค้าสำคัญๆ

Nikkei Asia ระบุโดยอ้างอิงจากแหล่งข่าวว่า Apple ได้พูดคุยกับซัพพลายเออร์หลายรายเรื่องการเพิ่มการผลิตในอินเดียในช่วงต้นปีหน้า ส่วน Foxconn ก็เตรียมจะผลิตหูฟัง Beats ในอินเดียแล้ว และจะรวมไปถึง AirPods ด้วย

Luxshare Precision Industry และบริษัทในเครือที่ผลิต AirPods ในเวียดนามและจีน ยังวางแผนที่จะช่วย Apple ในการผลิตในอินเดียด้วย แต่ตอนนี้ Luxshare จะโฟกัสที่เวียดนามก่อน

AirPods ได้กลายเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ Apple ที่มีการผลิตนอกจีนจำนวนมาก โดยเริ่มผลิตในเวียดนามมาตั้งแต่ปี 2019 แล้ว เพราะเป็นช่วงที่สงครามการค้าสหรัฐ-จีนกำลังดุเดือด ส่วนหูฟัง Beats ก็เริ่มผลิตในเวียดนามมาได้ร่วมปีแล้ว

AirPods ยังเป็นสินค้าขายดี มีการจัดส่งมากกว่า 70 ล้านเครื่องในแต่ละปี เป็นรอง iPhone เท่านั้นในแง่ปริมาณการจัดส่งสินค้า

อัพเดทข่าวธุระกิจแนะนำข่าวเพิ่มเติม >>BA ทยอยเปิดเส้นทางบินใหม่ต่อเนื่อง H2/65

BA ทยอยเปิดเส้นทางบินใหม่ต่อเนื่อง H2/65

BA ทยอยเปิดเส้นทางบินใหม่ต่อเนื่อง H2/65 รับสมุยคึกคัก เล็งบินจีน-ฮ่องกงต้นปี 66

 

ข่าวธุรกิจ วันนี้

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เปิดเผยว่า หลังเปิดประเทศเต็มรูปแบบและผ่อนคลายเงื่อนไขการเดินทางเข้าประเทศไทยของชาวต่างชาติ ส่งผลให้ภาพรวมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศได้รับสัญญาณการฟื้นตัวอย่างก้าวกระโดด ปัจจัยดังกล่าวส่งผลต่อดีบรรยากาศการท่องเที่ยวของเกาะสมุยที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.ของทุกปีจะเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (High Season) ของเกาะสมุย จึงคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างขาติเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก เห็นได้จากอัตราการจองซื้อบัตรโดยสารล่วงหน้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยยอดการจองบัตรโดยสารล่วงหน้าเส้นทางสมุยถึงสิ้นปี 65 รวมกว่า 470,000 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปี 64 ราว 179%

ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์และบริหารสนามบินสมุย ซึ่งเป็นฐานบินที่ 2 รองจากกรุงเทพฯ มียอดผู้โดยสารครึ่งปีแรกในเส้นทางระหว่างเกาะสมุยมีจำนวนกว่า 0.48 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 267 จากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา โดยมีจำนวนเที่ยวบินทั้งหมดที่ให้บริการในเส้นทางระหว่างสมุยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 นี้ จำนวนกว่า 5,600 เที่ยวบิน

สายการบินบางกอกแอร์เวย์สได้วางแผนปฏิบัติการบินให้เหมาะสมและสอดคล้องกับปริมาณนักท่องเที่ยว โดยในเส้นทางบินระหว่างเกาะสมุย ปัจจุบันได้เปิดให้บริการ รวมทั้งสิ้นจำนวน 6 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-สมุย สมุย-ภูเก็ต สมุย-เชียงใหม่ สมุย-อู่ตะเภา สมุย-หาดใหญ่ และ สมุย-สิงคโปร์

นอกจากนี้ ในปลาย ปี 65 บริษัทฯ ยังเตรียมกลับมาเปิดให้บริการเส้นทาง สมุย-กระบี่ และต้นปี 66 จะเปิดให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศในเส้นทาง สมุย-ฮ่องกง และแผนเปิดเส้นทางบินในอนาคต สมุย-เฉิงตู และสมุย-ฉงชิ่ง เพื่อรองรับอุปสงค์การเดินทางของกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนให้สามารถบินตรงสู่เกาะสมุยได้อย่างสะดวกสบาย”